การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานคือการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของสกุลเงินหนึ่ง ปัจจัยเหล่านี้ก็เช่น การเติบโตของ GDP ความมั่นคงทางการเมือง ดุลการค้า อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และตัวเลขการจ้างงานในประเทศนั้นๆ
การพิจารณาปัจจัยพื้นฐานต้องอาศัยข้อมูลหลากหลาย แต่เทรดเดอร์ส่วนใหญ่มักอิงข้อมูลการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่างๆ รวมทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองหรือภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินนั้นๆ การอาศัยข่าวในการเทรดนี้เรียกว่า “trading the news”
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงิน เช่น
- ความมั่นคงทางการเมืองและเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์
สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าเงินของประเทศนั้น เนื่องจากความมั่นคงทางการเมืองจะกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการเอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นผลดีต่อการลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ
แต่ถ้าเกิดเหตุยุ่งเหยิงทางการเมืองก็จะส่งผลลบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก็ส่งผลโดยตรงต่อค่าเงินด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ คือ ความตื่นกลัวเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งแสดงถึงความหวาดหวั่นของนักลงทุนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเต็มรูปแบบนี้
- อัตราการเติบโตของ GDP
อัตราการเติบโตของ GDP เป็นตัวบ่งชี้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อค่าเงินของประเทศนั้น ประเทศที่ GDP ลดลง ก็มักทำให้เงินอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในทางกลับกัน ประเทศที่ GDP สูงขึ้น ค่าเงินก็มักแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย
- อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย
อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยก็เป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงความเข้มแข็งของเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ ธนาคารกลางของประเทศมักเป็นผู้กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้เล็กน้อย จะถือว่ามีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ในทางกลับกัน ถ้าอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย ก็แสดงถึงสภาพเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัว ส่วนประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก็มักดึงดูดนักลงทุนได้มากกว่าเนื่องจากผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งก็มักทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นด้วย
- ดุลการค้าของประเทศ
การได้เปรียบดุลการค้าคือการที่ประเทศหนึ่งมีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการมากกว่ามูลค่าที่นำเข้า ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ามักทำให้สกุลเงินของประเทศนั้นเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดการเงินระหว่างประเทศ เพราะผู้ค้าจะต้องใช้เงินสกุลนั้นเพื่อชำระค่าส่งออก ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ขาดดุลการค้ามาก ก็ทำให้สกุลเงินของประเทศนั้นเป็นที่ต้องการน้อยลงในตลาดต่างประเทศ ซึ่งก็ทำให้เงินอ่อนค่าลง
- ข้อมูลการจ้างงาน
สถานการณ์การจ้างงานในประเทศจะเผยถึงภาวะเศรษฐกิจ หากอัตราการว่างงานสูง ย่อมชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ ถ้าอัตราการว่างงานต่ำ ก็มักหมายถึงเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
หากตัวเลขที่บ่งชี้สถานการณ์การจ้างงานเปลี่ยนแปลงบ่อย ตัวเลขที่เป็นไปในทางบวกก็ย่อมส่งผลให้สกุลเงินแข็งค่าขึ้น ส่วนตัวเลขที่ออกมาในเชิงลบก็ดึงให้สกุลเงินอ่อนค่าลง ตัวเลขข้อมูลการจ้างงานที่สำคัญ เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (US non-farm payrolls) และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (weekly unemployment claims)
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมีสองวิธี ได้แก่
- การวิเคราะห์จากบนลงล่าง (Top-Down Approach) เริ่มจากการวิเคราะห์เศรษฐกิจในภาพใหญ่หรือที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์มหภาค แล้วค่อยจำกัดวงให้แคบลงเพื่อหาสกุลเงินที่มีแนวโน้มสูงที่จะทำกำไร
- การวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน (Bottom-Up Approach) เริ่มจากเลือกสกุลเงินที่ต้องการจะเทรด แล้วจึงไล่ขึ้นไปดูว่าเงินสกุลนี้ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพใหญ่อย่างไรบ้าง
สรุป
เห็นได้ชัดว่าเทรดเดอร์ที่ใช้การวิเคราะห์พื้นฐานจะต้องอาศัยข้อมูลมากมายหลากหลาย เพื่อวิเคราะห์ตลาดและเพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องมูลค่าที่แท้จริงของสกุลเงินนั้น อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์นี้อาจกินเวลาค่อนข้างมาก ทำให้เทรดเดอร์สายปัจจัยพื้นฐานจำนวนมากมักตั้งหน้ารอฟังประกาศข่าวและตัวเลขทางเศรษฐกิจ วิธีการเทรดเช่นนี้ เรียกว่าการเทรดด้วยข่าวสาร “trading the news” ซึ่งเป็นวิธีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานที่เทรดเดอร์รายย่อยใช้กันมากที่สุด
ที่มา : Exness